TRC-EID

ABOUT US

TRC-EID

OUR HISTORY

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ
โรคอุบัติใหม่

ศูนย์วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคทางสมองและโรคสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แบบครบวงจร เริ่มก่อตั้งในนาม “ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง” เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2543 ด้วยทุนสนับสนุนจากสภากาชาดไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมองและ bระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ โดยมุ่งหวังที่จะทำให้การรักษาผู้ป่วยโรคทางสมอง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความพิการหรือเสียชีวิต จากการรักษาที่ไม่ทันท่วงที เนื่องจากขาดการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว

อีกทั้งทำการศึกษาวิจัยโรคทางสมองเพื่อคิดค้นแนวทางการวินิจฉัยและรักษาแนวใหม่ๆและความก้าวหน้าทางวิชาการที่ทัดเทียมนานาประเทศ และเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ทั้งระดับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปผ่านทางเว็บไซต์ ปัจจุบันมีทีม แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาเอก โท และตรี ร่วมปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และ สนับสนุนการ ทำวิจัยและวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโทและเอก โรคที่เกิดขึ้นต่อระบบประสาท อันได้แก่ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ซึ่งต่างจากโรคในระบบอื่นๆ ตรงที่การเข้าถึงการวินิจฉัย มีความยากเข็ญกว่า ทำให้ผู้ป่วยได้รับการ รักษาช้า ไม่ทันท่วงที และที่สำคัญคือ เนื้อประสาทโดยเฉพาะสมอง เมื่อเสียหายไปแล้วจะกลับฟื้นตัวได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย สาเหตุของโรคมีหลากหลาย

ตั้งแต่โรคที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ทั้งที่เกิดเดี่ยวๆแก่ระบบประสาทและเกิดร่วมกับระบบอื่นๆไปพร้อมๆกัน การเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องยังต้องคำนึงถึงกลไกของโรคว่าอยู่ที่ระดับ-ขั้นตอนใด เนื่องจากการใช้ยาอาจจะได้ผลที่ดีที่สุดโดยไม่เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนได้เพียงระยะต้นเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การใช้ยาสลายลิ่มเลือดในโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ จากเส้นเลือดสมองอุดตัน ถ้ากระบวนการของโรคดำเนิน ไปมากแล้ว การรักษากลับจะทำให้เกิดเส้นเลือดแตกซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก

การรักษาโรคติดเชื้อในสมอง เช่น จากไวรัส ต้องประเมินว่าอาการในขณะนั้นเป็นผลแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัสหรือเกิดจากตัวไวรัสเอง ดังนั้น การเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพต้องครอบคลุมตั้งแต่ การป้องกันแต่แรก โดยที่โรคยังไม่บังเกิด หากเกิดโรคแล้วจะต้องทำให้สงบเร็วที่สุด และทำให้สมรรถภาพของร่างกายมีการฟื้นฟูมากที่สุด ประการสุดท้าย คือ การป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำซ้อน

vision
  • ขยายขอบเขต
    ขยายขอบเขตครอบคลุม กลุ่มโรคทางสมองและระบบประสาท โดยรวม อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคสมองเสื่อม และกล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคสมองอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
  • สร้างความตระหนักประชาชน
    สร้างความตระหนักของประชาชนถึงผลกระทบจากโลกร้อนและอาการแปรปรวน ซึ่งส่งผลทำให้มีการระบาด ของโรคติดเชื้อสมองมากขึ้น ส่งเสริมการปฏิบัติตนพื้นฐานเพื่อป้องกันโรคทางระบบประสาททั้งที่ เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
  • พัฒนากระบวนการ
    พัฒนากระบวนการวินิจฉัยโดยเทคนิคทางอณูชีววิทยาและโปรติโอมิกส์ ซึ่งบ่งชี้ขั้นตอนของโรคว่ามี การพัฒนาถึงระดับใด
  • พัฒนาและฟื้นฟู
    พัฒนาวิธีการฟื้นฟูระบบประสาทที่เสียหายแบบก้าวหน้าโดยอาศัยเซลต้นกำเนิด ร่วมกับศูนย์เซลต้นกำเนิด และเซลบำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย